หนังสือตีพิมพ์


東南アジアの住居: その起源・伝播・類型・変容 (House in South–East Asia: Its Origin, Diffusion, Typology & Transformation – House of Tai Tribes & Shophouse)



ณวิทย์ อ่องแสวงชัย

2017/2560

ISBN : 9784814000630


ผู้แต่ง : ณวิทย์ อ่องเเสวงชัย
จำนวนหน้า : 558
พิมพ์ครั้งที่ : 1
วันที่พิมพ์: 02/2017
ประเภท : หนังสือ
กลุ่มสาขา : ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์



"ก่อนหน้าที่เหล็ก กระจก และคอนกรีตจะทำให้ที่อยู่อาศัยออกมามีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายๆกัน แต่ละพื้นที่จะใช้วัสดุที่ผลิตได้ในท้องถิ่น และวิธีการก่อสร้างที่สืบทอดกันมาแต่อดีตในการก่อสร้างที่พักอาศัย ที่อยู่อาศัยในแต่ละส่วนของโลกก่อนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ หรือพูดง่ายๆว่าก่อนที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างจะเกิดขึ้น จึงเต็มไปด้วยรูปแบบที่หลากหลาย จนน่าแปลกใจว่ามีความหลากหลายมากมายขนาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ความหลากหลายเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันไหม และสามารถจัดหมวดหมู่เข้าด้วยกันได้หรือไม่ หนังสือเล่มนี้พยายามที่จะอธิบายถึงความหลากหลายของที่อยู่อาศัย รากเหง้าแห่งความหลากหลาย ตลอดจนความเป็นได้ในอนาคตของความหลากหลายเหล่านี้

หนังสือนี้จึงหยิบยกที่อยู่อาศัยของคนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมา โดยมีที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท และชอปเฮ้าส์ (shophouse) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในเขตเมือง เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการอธิบายถึง กำเนิด ลักษณะต้นแบบ และรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปของที่อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ ปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจพิจารณาได้ว่า มีสาเหตุมาจาก การทำให้เป็นตะวันตก (westernization) การทำให้ทันสมัย (modernization) และการทำให้เป็นระบบอุตสาหกรรม (industrialization) ส่วนเหตุผลที่ ที่อยู่อาศัยพื้นถิ่น และชอปเฮ้าส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษานั้น จะได้อธิบายพร้อมๆกับโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ต่อไป

บทนำของหนังสือเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (vernacular architecture) ของโลกในภาพรวม คำว่า “vernacular” มีความหมายว่า “ความเป็นเฉพาะของพื้นที่นั้นๆในสิ่งต่างๆ” “ตามลักษณะของพื้นที่” หรือ “ภาษาถิ่น” “สำเนียงเฉพาะถิ่น” ซึ่งแต่เดิมในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนของกลุ่มชนเจอร์แมนิกให้ความหมายถึง “การมีรกราก” หรือ “การตั้งรกรากอาศัยอยู่” โดยมาจากคำว่า “vernaculum” ในภาษาละติน ที่มีความหมายว่า “ผลิตขึ้นภายในครัวเรือน” หรือ “เลี้ยงดูภายในบ้าน” ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คือ สถาปัตยกรรมประเพณีที่เป็นของแต่ละท้องถิ่น

การสำรวจสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั่วโลกอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเกินความคิดคำนึงจนเกินไป แต่ที่ผ่านมาก็มีงานศึกษาในพื้นที่ส่วนต่างๆของโลกออกมาให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามงานศึกษาแต่ละชิ้นมีกรณีศึกษาที่หลากหลายในลักษณะที่กระจัดกระจาย หนังสือเล่มนี้จึงเริ่มต้นด้วยความพยายามในการยกระดับดังกล่าว โดยการแบ่งลักษณะภูมิประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น ป่า ทะเล ภูเขา และที่ราบลุ่ม และใช้พื้นฐานที่แตกต่างของระบบนิเวศดังกล่าว ในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิธีการในการจัดระเบียบพื้นที่ของหมู่บ้านพื้นถิ่น ซึ่งความเข้าใจในประวัติความเป็นมาของการอยู่อาศัยของมนุษย์บนโลก น่าที่จะให้แนวทางในการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยนิเวศพื้นที่ ที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี

บทนำของหนังสือจึงมุ่งอธิบายเกี่ยวกับต้นแบบของที่อยู่อาศัย และปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบลักษณะของที่อยู่อาศัย ก่อนการมาถึงของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันไปหมด อันเกิดจากการใช้เหล็กและคอนกรีตเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง รูปแบบลักษณะของที่อยู่อาศัยที่เคยเต็มไปด้วยความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ บ่อเกิดแห่งความหลากหลายเหล่านั้น หรือพูดในอีกแง่หนึ่งว่า อะไรคือลักษณะร่วมของที่อยู่อาศัยอันหลากหลายเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นหลักที่บทนำนี้ให้ความสนใจ

จากการมองทวีปยูเรเชียในภาพรวม ในบทที่ 1 จะอธิบายถึงลักษณะร่วมพื้นฐานที่โดดเด่นของที่อยู่อาศัยพื้นถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในบทที่ 2 ต่อมาจะมุ่งเน้นไปยังที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท ในภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป บทที่ 1 จะมุ่งประเด็นไปที่ประเทศหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโลกแห่งท้องทะเลของออสโตรนีเซีย ที่เริ่มจากมาดากัสการ์ทางตะวันตกไปสิ้นสุดที่เกาะอีสเตอร์ทางตะวันออก โดยมีหัวข้อหลักในการอธิบายถึงเกี่ยวกับ กลองสำริดดองซอน เรือนยกใต้ถุนสูง ต้นกำเนิดของเรือนหลังคาจั่วและปั้นหยา และยุ้งข้าว นอกจากนี้ รูปแบบการรวมกลุ่มของที่อยู่อาศัยกับการอยู่รวมกันของหลายครอบครัว ตลอดจนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของที่อยู่อาศัยกับจักรวาลวิทยา ก็เป็นประเด็นหลักที่บทนี้ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน

บทที่ 2 เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง ต้นกำเนิดของคนกลุ่มชาติพันธุ์ไทในภาพรวม ซึ่งมีความคิดเห็นออกมาที่หลากหลาย แต่ก็มีข้อสรุปที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นกลุ่มคนที่อพยพเคลื่อนย้ายจากบริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนลงมาทางใต้ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายไปตามเส้นทางที่อพยพลงมาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบของการตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านในลักษณะต่างๆจะได้รับการอธิบาย ก่อนที่จะมุ่งการศึกษาวิเคราะห์ไปยังหมู่บ้านของชนเผ่าไท-ลาว ในประเด็นเกี่ยวกับลักษณะในการจัดรูปที่ว่าง และกระบวนการเปลี่ยนแปลงในการจัดรูปที่ว่างดังกล่าว โดยการศึกษาเปรียบเทียบ จากการสำรวจภาคสนามในหมู่บ้านจำนวน 4 แห่ง คือ บ้านนาอ้อ และบ้านหนองหนาว ในประเทศไทย และบ้านปากชี และบ้านหนองจัน ในประเทศลาว

บทที่ 3 จะมุ่งเน้นไปที่ชอปเฮ้าส์ในฐานะที่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับเขตเมือง ชอปเฮ้าส์ หรือ “shophouse” ในภาษาอังกฤษ มีความหมายตรงตัวกับคำว่า “店屋” ในภาษาจีนที่แปลว่า “ร้านค้าร่วมที่พักอาศัย” ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “เรือนค้า” ในภาษาไทย ที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้อาจกล่าวได้ว่า เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการอพยพของชาวจีนทางตอนใต้ของประเทศไปตั้งรกรากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความน่าสนใจอยู่ตรงประเด็นที่ รูปแบบของชอปเฮ้าส์ที่สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์นำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัยของเมืองสิงคโปร์นั้น ได้ถูกปลูกถ่ายไปยังไทย และมาเลเซีย และยังถ่ายทอดกลับไปยังภาคใต้ของจีน (เช่น ในมณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกว่างตง) ไปจนถึงเกาะไต้หวัน ที่มีการสร้างฉีโหลว (騎楼 – qilou) หรือชอปเฮ้าส์ที่มีอาเขตทางเดินด้านหน้าเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ในอีกแง่หนึ่งว่า ชอปเฮ้าส์ได้กลายเป็นรูปแบบร่วมของที่อยู่อาศัยที่แพร่กระจายครอบคลุมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้น เนื้อหาในบทที่ 3 จึงเริ่มต้นด้วยการอธิบายในภาพรวมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชอปเฮ้าส์ และกระบวนการแพร่ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะอธิบายถึงการแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยในลำดับต่อมา โดยการยก กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวง ปัตตานี ในฐานะเมืองท่าประวัติศาสตร์ทางภาคใต้ และตลาดคลองสวน ในฐานะเมืองตลาดในบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำของภาคกลาง ขึ้นมาเป็นพื้นที่ศึกษา เพื่ออธิบายถึงกระบวนการปลูกถ่ายและลักษณะรูปแบบของชอปเฮ้าส์ ตลอดจนกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยละเอียด

การศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยพื้นถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยในบทก่อนๆที่ผ่านมา จะนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับการสืบทอดและพัฒนาแนวคิดมาสู่ที่อยู่อาศัยร่วมสมัยของไทยในบทที่ 4 ซึ่งเริ่มจากการขยายขอบเขตของมุมมองในการศึกษาให้กว้างขึ้นอีกครั้ง โดยการพิจารณาในภาพรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในนิเวศภูมิทัศน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลกระทบรอบด้านออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการขยายตัวของเขตเมืองจนมีขนาดใหญ่เกินพอดี ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง มาตรการทางสังคมที่ควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ก็ส่งผลกระทบให้เกิดเมืองที่มีขนาดเล็กจนเกินไปขึ้นเช่นกัน เนื้อหาของบทในช่วงต่อมาจะเป็นการอธิบายในภาพรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆของที่ดิน การเคลื่อนย้ายประชากร ลักษณะรูปแบบต่างๆของพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย ประเภทของที่อยู่อาศัย นโยบายด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ก่อนที่จะหยิบยกเมืองพิมาย เชียงใหม่ อยุธยา และเวียงจันทน์ ซึ่งต่างเป็นเมืองศูนย์กลางในอดีต ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ในการอยู่อาศัย เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้น ในตอนท้ายของบทจะอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ และสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันว่ามีลักษณะเช่นไร โดยการอธิบายที่เป็นรูปธรรมจากสภาพความเป็นจริงของปัญหาในการอยู่อาศัยที่เป็นลักษณะของไทย ในบ้านพักคนงาน คอร์เฮ้าส์ และการเคหะของรัฐ

จากเนื้อหาทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น บทสรุปจะมองย้อนกลับไปยังประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน
"